อาหารผู้ป่วย กินอยู่อย่างไรในระหว่างรักษามะเร็งเต้านม เมื่อทราบว่าเป็นมะเร็งเต้านม คนที่รัก ที่ห่วงเราจะมีคำแนะนำที่ถาโถมกันเข้ามาทั้งที่แนะนำให้กินให้ใช้ ให้อยู่ และแนะนำให้หลีกเลี่ยงต่าง ๆ
คำแนะนำเพื่อเตรียมตัวเมื่อทราบว่าเป็นมะเร็งเต้านมก่อนและหลังผ่าตัด
การเตรียมตัวก่อนผ่าตัด
1. สิ่งที่ต้องทราบ ได้แก่ การวินิจฉัยโรค วิธีการผ่าตัด (ผ่าตัดทั้งเต้านม หรือสงวนเต้า รวมถึงการเลาะต่อมน้ำเหลือง)
2. การดมยาสลบ มีข้อแนะนำดังนี้
2.1 โรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ ควรอยู่ในเกณฑ์ปกติ ปลอดภัยสำหรับการผ่าตัด
2.2 ยาที่รับประทานประจำ ยาบางชนิดจำเป็นต้องหยุดก่อนการผ่าตัด เนื่องจากมีผลกับการแข็งตัวของเลือด ทำให้เลือดหยุดยากระหว่างผ่าตัด เช่น ยาต้านเกล็ดเลือด (aspirin, clopidogrel) ยาต้านการแข็งตัวของเลือด (warfarin, rivaroxaban)
2.3 อาหารเสริมบางชนิด ควรงดก่อนผ่าตัด 1-2 สัปดาห์เนื่องงากมีผลต่อการแข็งตัวของเลือด เช่น fish oil
2.4 ประวัติการแพ้ยา/ แพ้อาหาร เพื่อที่จะหลีกเลี่ยงยาหรืออาหารกลุ่มที่แพ้ ในระหว่างผ่าตัด เช่นแพ้ยา Bactrim, penicillin
2.5 ประวัติการผ่าตัดหรือดมยาสลบในอดีต เช่น เคยผ่าตัดไส้ติ่ง มีผลข้างเคียงจากการดมยาสลบหรือไม่ เช่น คลื่นไส้หลังดมยาสลบ
3. การลางาน/ หยุดพักงานประจำหรือกิจธุระอื่น หากเป็นการผ่าตัดสงวนเต้า ภายใน 1-2 สัปดาห์หลังผ่าตัดนั้นเพียงพอในการพักฟื้นร่างกาย
การเตรียมตัวหลังผ่าตัด
1. การผ่าตัดเต้านม มักมีสายระบายอยู่ประมาณ 5-7 วันหลังผ่าตัด
2. แนะนำรับประทานอาหารครบ 5 หมู่ โดยเฉพาะโปรตีนเพื่อฟื้นฟูร่างกาย ช่วยให้แผลสมานเร็ว และเพื่อเตรียมความพร้อมร่างกายก่อนรับยาเคมีบำบัดในอนาคต
3. การเกิดแผลเป็น คีลอยด์ ไม่เกี่ยวข้องกับอาหารบางอย่างเช่น ไข่ อาหารทะเล สาเหตุการเกิดแผลเป็นขึ้นกับลักษณะผิวหนังธรรมชาติของผู้ป่วยแต่ละคน
4. ออกกำลังกาย รวมถึงบริหารไหล่และแขนข้างที่ผ่าตัด เพื่อป้องกันภาวะไหล่ติด โดยนักกายภาพบำบัดช่วยบริหารไหล่ หลังผ่าตัด
5. พักผ่อนให้เพียงพอ ลดความเครียด
การรับประทานอาหาร หรืออาหารเสริมระหว่างให้ยาเคมีบำบัด
1. อาหารประเภทโปรตีนทั้งจากพืชและสัตว์ แนะนำในรับประทานตามปกติ หรือมากกว่าปกติ หากสามารถทำได้ เพื่อเพิ่มเม็ดเลือดขาวในระหว่างการให้เคมีบำบัด หากเม็ดเลือดขาวต่ำอาจติดเชื้อง่าย สามารถรับประทานเนื้อสัตว์ได้ทุกชนิด ไข่ นม ถั่ว หรือโปรตีนจากพืช ถั่วเหลือง เต้าหู้ whey
หากเป็นอาหารทะเลที่ปรุงสุกรับประทานได้ตามปกติ
2. อาหารเสริมที่ต้องระวังในระหว่างให้เคมีบำบัด คือพวกสารต้านอนุมูลอิสระ (เช่น vitamin C) อาจจะไปลดการทำงานของยาเคมีบำบัดได้เพราะฉะนั้นควรนำยาและอาหารเสริมต่าง ๆ ที่รับประทานอยู่มาให้แพทย์ที่ทำการรักษาดู เพื่อประเมินการเกิดปฏิกริยาระหว่างยา
3. หลีกเลี่ยงอาหารหมักดอง หรืออาหารที่ไม่ผ่านความร้อนในการปรุง เช่น ปลาดิบ sushi หรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์/บุหรี่
4. ผัก ผลไม้ สามารถรับประทานได้ตามปกติ โดยเน้นความสะอาดในการล้าง/ ปรุงอาหาร เนื่องจาก หากเม็ดเลือดขาวต่ำจากยาเคมีบำบัด การรับประทานอาหารที่ไม่สะอาด อาจทำให้ติดเชื้อจากอาหารได้ง่าย
5. ผู้ป่วยที่รับประทานยาเม็ดต้านฮอร์โมน เช่น Tamoxifen (Nolvadex), Letrozole (Femara) ต้องแจ้งแพทย์ว่ามีรับประทานยาอื่นร่วมกันหรือไม่ เนื่องจากยาบางชนิดอาจรบกวนการทำงานของยาเม็ดต้านฮอร์โมน
พืชที่มีฮอร์โมนเอสโตรเจน (phytoestrogen from plants)
พืชที่มีฮอร์โมนเอสโตรเจน เช่น มะพร้าว ถั่วเหลือง เต้าหู้ มีฮอร์โมนจริงแต่ในปริมาณที่น้อยมาก เมื่อเทียบกับฮอร์โมนเอสโตรเจนตามธรรมชาติจากรังไข่ของผู้หญิง จากข้อมูลการวิจัย ไม่พบว่าการรับประทานถั่วเหลือง มะพร้าว ทำให้มะเร็งเต้านมกลับมาเป็นซ้ำมากกว่าปกติ
ดังนั้นผู้ป่วยมะเร็งเต้านมสามารถรับประทานได้ตามปกติ ในปริมาณปกติเช่น นมถั่วเหลือง 1 กล่อง/ วัน น้ำมะพร้าว 1 แก้ว/ วัน เป็นต้น
อาการท้องเสีย หลังให้ยาเคมีบำบัด มี 2 สาเหตุที่พบบ่อย ได้แก่
1. ผลข้างเคียงจากยาเคมีบำบัด มักถ่ายเหลว เป็นน้ำปนเนื้อ ไม่มีมูกเลือดปน ไม่มีไข้ ไม่ปวดท้อง สามารถรับประทานยาแก้ท้องเสีย Imodium ได้
2. ท้องเสียจากการติดเชื้อหรือลำไส้อักเสบ เกิดจากการติดเชื้อไวรัส/ แบคทีเรียในลำไส้ อาจมีไข้ ปวดบิดท้องได้ หากอาการไม่ดีขึ้นใน 1-2 วันแนะนำพบแพทย์ เนื่องจากอยู่ระหว่างให้ยาเคมีบำบัดอาจมีภูมิคุ้มกันต่ำกว่าปกติ
กัญชากับการรักษามะเร็งเต้านม
1. ตามหลักวิทยาศาสตร์การแพทย์ กัญชาไม่มีฤทธิ์ฆ่าเซลล์มะเร็ง ไม่สามารถทำให้เซลล์มะเร็งตาย หรือขนาดเล็กลงได้
2. สามารถช่วยเพิ่มอยากอาหาร enjoy eating ลดอาการปวดที่เกิดจากมะเร็ง หรือลดอาการคลื่นไส้อาเจียนจากยาเคมีบำบัด